ชุมชนบ้านบาตร

กว่าจะเป็น ” ย่านบ้านบาตร”

     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งอดีตทรงเป็นทหารหลวงในสมัยอยุธยา มีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพฯเป็นราชธานีแห่งใหม่ เป็นศูนย์กลางอาณาจักร ด้วยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านที่อพยพมาจากกรุงเก่าและชาวบางกอกเดิม ต่างก็ต้องปรับตัวให้ตนอยู่รอดมากที่สุด ดังนั้นชุมชนเดิมที่รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านแบบเฉพาะถิ่น อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มพ่อค้า กลุ่มชาวจีน ชาวญวน หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมก็ถูกรื้อฟื้นให้มีขึ้น เช่น ที่ถนนบำรุงเมืองหลังวัดสระเกศ ใกล้กับเมรุปูนมีซอยย่อยที่ตั้งใกล้กันอยู่ยาวทั่วทั้งถนน ในอดีตนั้นถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนคนทำกินอาชีพหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี ย่านนี้เรียกกันว่า “บ้านบาตร”

บ้านบาตรตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ประมาณกันว่าชุมชนมีอายุยาวนานกว่าสองร้อยปี แหล่งที่มาของชาวบ้านบาตร มีประวัติศาสตร์บอกเล่าที่แตกต่างกัน ปรากฏคำบอกเล่าว่า คนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ.2310 สันนิษฐานว่า บ้านบาตรอาจตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีและขุดคลองรอบกรุงขึ้นในปี พ.ศ. 2326 ชาวบ้านบาตรจึงมาตั้งบ้านเรือนในละแวกนอกคลองตามที่อยู่ปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังมีคำบอกเล่าต่อๆกันว่า บรรพบุรุษเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่เข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากนั้นได้รวมกันมาอยู่ที่ตรอกบ้านบาตรจนกลายเป็นชุมชน เนื่องจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้มีฐานะมักนิยมสร้างวัด ทำให้มีวัดในกรุงเทพฯจำนวนมาก ในชุมชนแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านทำบาตรพระ และประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 100 ปีแล้ว

ขั้นตอนการทำบาตร

่บาตรที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มี 2 ชนิดเท่านั้นคือ ‘บาตรดินเผา’ และ ‘บาตรเหล็กรมดำ’ โดยควรมีขนาด 7-11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากโลหะหรือวัสดุที่มีมูลค่าสูง เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง อัญมณี และแก้วผลึกต่างๆ แม้แต่บาตรที่ทำจากดีบุก สังกะสี หรือไม้ ก็ใช้ไม่ได้

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่องจากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย จึงเป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์ ส่วนฝาบาตรนั้นในสมัยพุทธกาลจะทำจากไม้แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ฝาสแตนเลสแทนเนื่องจากฝาบาตรที่ทำจากไม้มีปัญหาแตกหักง่าย แต่พระระดับเกจิในภาคอีสานบางรูปก็ยังใช้ฝาบาตรที่ทำจากไม้อยู่โดยนำไม้มะค่าหรือไม้ประดู่มากลึงให้ได้รูปทรงเข้ากับตัวบาตร

ขั้นตอนที่ 1 ทำขอบบาตร
 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการทำบาตรพระเนื่องจากขอบบาตรจะเป็นตัวกำหนดว่าบาตรใบนั้นจะมีขนาดและรูปทรงอย่างไร การขึ้นรูปขอบบาตรเริ่มจากการนำเหล็กมาตัดตามแต่ขนาดของบาตร เช่น บาตรขนาด 7 นิ้วจะต้องตัดแผ่นเหล็กให้มีความยาว 8 นิ้ว เพื่อเหลือเนื้อที่ไว้ประกบปลายทั้งสองข้างเมื่อได้เหล็กที่มีขนาดตามต้องการแล้ว ก็นำมาตีขมวดเป็นวงกลม ซึ่งเหล็กที่นำมาใช้นั้นจะใช้ฝาถังน้ำมันหรือใช้เหล็กแผ่นก็ได้

ขั้นตอนที่ 2 การประกอบกง
ช่างจะตัดแผ่นเหล็กเป็นรูปกากบาท ซึ่งเรียกว่า ‘กง’ จากนั้นจึงดัดงอขึ้นรูปแล้วนำมาติดกับขอบบาตร เมื่อขึ้นรูปเสร็จจะเหลือช่องว่างรูปสามเหลี่ยมใบโพ 4 ช่อง ช่างจะวัดและตัดแผ่นเหล็กรูปร่างเหมือนใบหน้าวัว 4 ชิ้น ที่เรียกว่า ‘หน้าวัว’ หรือ ‘กลีบบัว’จักฟันโดยรอบเพื่อใช้เป็นตะเข็บเชื่อมกับส่วนต่างๆ ตีให้งอเล็กน้อยตามรูปทรงของบาตร ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้ว จะได้บาตรที่มีตะเข็บ 8 ชิ้นพอดี

ขั้นตอนที่ 3 การแล่น
คือการเชื่อมประสานรอยตะเข็บ ให้เหล็กเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้ผงทองแดงกับน้ำประสานทองทาให้ทั่วบาตรก่อน เพื่อให้น้ำประสานทองเชื่อมโลหะไม่ให้มีรูรั่ว สมัยโบราณใช้เตาแล่นแบบที่ใช้มือสูบลมเร่งไฟ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องเป่าลมไฟฟ้าแทน

ขั้นตอนที่ 4 การลาย หรือการออกแบบรูปทรง
เป็นการนำบาตรที่แล่นแล้วมา เคาะให้ได้รูปทรงที่ต้องการ โดยจะใช้ ‘ค้อนลาย’ ซึ่งเป็นค้อนรูปโค้งงอ หัวค้อนมีลักษณะแหลม เคาะด้านในของบาตร สำหรับที่รองเคาะนั้นเป็นทั่งไม้สี่เหลี่ยมขนาดพอเหมาะกับบาตร

ขั้นตอนที่ 5 การตี
ช่างจะใช้ค้อนเหล็กตีผิวด้านนอกของบาตร ให้รอบ เพื่อให้ส่วนที่นูนออกมาจากการลายเรียบเสมอกัน รวมทั้งตีให้รอยตะเข็บที่ยังขรุขระเรียบเสมอกัน จากนั้นต้องนำไป ‘ตีลาย’ บนทั่งไม้ เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ แล้วนำไปเจียรต่อโดยใช้เครื่องเจียรไฟฟ้าแล้วจึงตะไบตกแต่งให้สวยงามอีกครั้ง ซึ่งจะได้บาตรสีเงินขึ้นเงาแวววับ

ขั้นตอนที่ 6 การสุม หรือระบมบาตร
เพื่อป้องกันการเกิดสนิม โดยในสมัยก่อนจะใช้กำมะถันทา จากนั้นจึงนำบาตรมากองรวมๆ กัน แล้วใช้หม้อครอบสุม เชื้อเพลิงที่ใช้จะเป็นเศษไม้สักจากร้านขายเครื่องไม้ซึ่งมีอยู่รอบภูเขาทอง เนื่องจากไม้สักเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูง ซึ่งบาตรที่ได้จากการสุมจะมีสีดำ จากนั้นจึงใช้น้ำมันมะพร้าวทาทับอีกครั้ง แต่ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันกันสนิมชโลมให้ทั่วตัวบาตรแทน

ขั้นตอนที่ 7 การทำสี
อันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทำให้บาตรเป็นสีต่างๆ เช่น สีเขียว สีดำสนิท นั้นถือเป็นเทคนิค เฉพาะตัวของช่างแต่ละคน รวมทั้งการแกะสลักลวดลายไทย การตีตรา การสลักชื่อช่างผู้ทำ ซึ่งจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่ความพอใจของช่างตีบาตร

     ปัจจุบันความนิยมในบาตรพระที่ทำด้วยมือลดน้อยลง เหลือเพียงการจำหน่ายเป็นของที่ระลึก หรือรับสั่งทำจากพระภิกษุสงฆ์โดยตรงเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านบาตรส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพอื่น ปัจจุบันจึงเหลือกลุ่มช่างที่ยังผลิตผลงานอันคงไว้ซึงเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านบาตรเพียง 4-5 ครอบครัวเท่านั้น โดยสาเหตุใหญ่ที่ทำให้หัตถกรรมการทำบาตรลดน้อยลงเนื่องมาจากการมีบาตรปั๊มเข้ามาแทนที่มากขึ้น และบาตรที่ทำด้วยมือมีราคาที่สูงกว่าความนิยมจึงน้อยลง 

ข้อมูลการติดต่อ

กลุ่มอนุรักษ์ไทยและภูมิปัญญาไทย (ชุมชนบ้านบาตร)  คุณหิรัญ เสือศรีเสริม

สถานที่ติดต่อ

38 ซอยบ้านบาตร ถนนบริพัตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร (ร้านตั้งอยู่แยกเมรุปูน)

โทรศัพท์ : 086-104-9639 , 099-224-7864

เว็ปไซต์ : http://www.banbatt.com/

การเดินทาง 

      สำหรับการเดินทางไปยังชุมชนบ้านบาตรนั้นก็ไม่ยาก หากท่ามีโอกาสไปเที่ยวแถบเสาชิงช้า หรือภูเขาทอง วัดสระเกศ  ก็ลองเดินเลยไปยังซอยบริพัตร เข้าไปลึกเกือบครึ่งซอยแล้วหันไปทางซ้ายมือ จะพบกับป้ายเขียวว่า “ชุมชนบ้านบาตร” ตัวใหญ่อยู่หน้าซอย และหากมีความประสงค์ที่จะชมขั้นตอนการทำบาตรของชุมชนบ้านบาตร ที่นี้เขาจะทำบาตรกันทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ โดยส่วนมากจะเริ่มทำกันตอนสายๆ และเลิกทำในช่วงเย็น ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเยี่ยมชม เวลา 11:00 น. เป็นต้นไป  

แผนที่

อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก : http://www.banbatt.com/index.html

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=pragoong&month=20-06-2011&group=5&gblog=8

กลับสู่ด้านบน

ใส่ความเห็น