สวนสันติชัยปราการ

สวนสาธารณะสันติชัยปราการ

         สวนสาธารณะสันติชัยปราการ ตั้งอยู่ในบริเวณป้อมพระสุเมรุ โบราณสถานเก่าแก่ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่เดิมป้อมแห่งนี้มีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับถูกบดบังโดยการใช้ที่ดินที่ขาดการจัดระเบียบบริเวณรอบป้อม ทำให้กิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์แห่งนี้ ขาดความสง่างามและด้อยความสำคัญลงไปมาก ต่อมารัฐบาลจึงทำการบูรณะป้อมพระสุเมรุ และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบให้เป็นสวนสาธารณะ และใช้เป็นสถานที่จัดงานประเพณีในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พร้อมทั้งดำเนินการจัดสร้างพระที่นั่งขึ้นในบริเวณสวน เพื่อถวายเป็นถาวรวัตถุที่ระลึกแห่งพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในโอกาสนี้ด้วย และได้รับพระราชทานชื่อว่า “พระที่นั่งสันติชัยปราการ” และ “สวนสาธารณะสันติชัยปราการ” ซึ่งมีความหมายว่า“มีประการที่เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของสันติภาพ” รัฐบาลมอบสวนแห่งนี้ให้กรุงเทพมหานครดูแลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครส่งเสริมให้สวนแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ย่านบางลำพู นอกเหนือจากบทบาทของสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อน

องค์ประกอบสวน

    สวนสาธารณะสันติชัยปราการได้รับการออกแบบให้เป็นสถานที่พักผ่อนชมความงามของทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคุ้งน้ำที่งดงามเป็นพิเศษมีมนต์เสน่ห์ในแบบตะวันออกและเป็นสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครเพียง 1 ใน 2 แห่ง ที่สร้างขึ้นในแบบ Waterfront park จากความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้ง ทำให้สวนแห่งนี้สามารถใช้เป็นสถานที่เฝ้าชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ ด้วยวัตถุประสงค์ของการสร้างสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะย่านบางลำพูที่มีประชาชนหนาแน่น จึงทำให้สวนแห่งนี้มีลักษณะพิเศษเป็น “สวนสาธารณะที่เอื้ออาทรต่อผู้ด้อยโอกาส” เช่น มีทางลาดเพื่อกลุ่มคนพิการสามารถมาชมสวนได้ทั่วบริเวณ

จุดน่าสนใจในสวน

          พระที่นั่งสันติชัยปราการ กว้าง 4.7 เมตร ยาว 14.20 เมตร สร้างด้วยไม้ตะเคียนในแบบสถาปัตยกรรมไทยดั้งเดิม ตกแต่งลวดลายแกะสลักใช้ไม้สักทาสีชาตามแบบพระที่นั่ง หลังคาลดชั้นแบบจตุมุข มีมุขประเจิด หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายไทยงดงามวิจิตร ประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

            ต้นลำพู เดิมบริเวณนี้เป็นป่าชายเลน มีดงลำพูและเป็นที่อาศัยของหิ่งห้อยจำนวนมาก ที่มาของชื่อ “บางลำพู” ในสมัยอยุธยา เล่ากันว่า “ถ้าพายเรือมาเห็นแสงจากหิ่งห้อยยามค่ำคืนที่อยู่กับต้นลำพูแสดงว่า ได้เดินทางมาถึงบางลำพูแล้ว” แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ต้นในบริเวณริมน้ำของสวนแห่งนี้เท่านั้น ต้นลำพูเป็นพันธุ์ไม้ให้ประโยชน์ช่วยให้น้ำใส ป้องกันน้ำเซาะตลิ่ง และเป็นแหล่งอาศัยของหิ่งห้อย การเปล่งแสงของหิ่งห้อยเกิดขึ้นหลังพลบค่ำเป็นสัญญาณใน “การเรียกคู่” เพื่อผสมพันธุ์ เมื่อเกิดตัวอ่อนแล้วพ่อแม่จะตายตกลงในน้ำเป็นอาหารปลา นับเป็นวัฏจักรให้ประโยชน์ต่อมนุษย์

         ประติมากรรมวิถีชีวิตบางลำพู ตั้งประดับอยู่ในสวนฯ แสดงวิถีชีวิตประชาชนในย่างบางลำพูแต่ละด้านในแต่ละยุคสมัย “สมัยอยุธยาถึงกรุงธนบุรี ชุมชนบางลำพู คือ แหล่งพักค้างแรมเพื่อเดินทางต่อทางเรือ” “สมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 2 – 4) ย่านบางลำพูเป็นชุมชนค้าขายสินค้าขนมไทยที่เลื่องชื่อ” “สมัยรัชกาลที่ 5 – 7 บางลำพูกลายเป็นศูนย์กลางด้านดนตรีไทย และการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง”

ที่ตั้ง เวลาทำการ

ที่อยู่ : ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ 05-00 น. – 21.00 น.

การเดินทาง
  • ทางรถประจำทาง : รถเมล์สาย 3 , 6 , 9 , 30 , 32 , 33 , 53 , 64 , ปอ.6
  • ทางเรือ : ท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา ลงเรือที่ ท่าพระอาทิตย์

แผนที่

อ้างอิงข้อมูลจาก :http://office.bangkok.go.th/publicpark/park21.asp 

กลับสู่ด้านบน

ใส่ความเห็น